วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้
     พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพระเถระ และงานของท่านมาเรียงไว้ ทำให้ได้หลักหลายประการ เช่น
-     พระมหากัจจายนเถระ  ผู้รับหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแคว้นอวันตีได้มาจำพรรษาที่บุพพารามด้วย แสดงว่าท่านต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างอวันตีกับพุทธสำนักเพราะงานของท่านปรากฏทั้งที่อวันตีชนบท และสาวัตถี ตลอดถึงเมืองอื่น ในเขตมัชฌิมชนบทเสมอ
-     การอบรมสั่งสอนพระนวกะ เป็นงานธรรมสงเคราะห์ที่พระเถระท่านแบ่งกันรับผิดชอบ ช่วยให้เห็นโครงสร้างทางการศึกษา การปกครองในยุคนั้น ได้เป็นอย่างดีว่า พระเถระทั้งหลายได้กระจายความรับผิดชอบ ในการปกครอง อบรมสั่งสอน พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามา โดยขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้า แม้การวินิจฉัยตัดสินอธิกรณ์ ก็มีคณะบุคคลที่เรียกว่าพระวินัยธร รับผิดชอบในการพิจารณาสอบสวนตัดสิน โดยยึดหลักการที่ทรงแสดงไว้ สำหรับผู้ทำงานในด้านนี้
ภิกษุสามเณรที่อยู่ในความสงบ สมแก่สมณภาวะแห่งตนย่อมก่อให้เกิดผล เป็นการสร้างความยินดี ให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์ ทั้งเป็นการบูชาต่อพระพุทธองค์ ด้วยการปฏิบัติบูชา เพราะทรงยินดีนิยมในปฏิปทาเช่นนี้ การวางตนในลักษณะนี้จึงเป็นบาทแห่งการประพฤติปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบางมากยิ่งขึ้น จึงทรงตักเตือนให้ท่านเหล่านั้น รีบเร่งบำเพ็ญเพียรให้ยิ่งขึ้นไป
     โดยปกติ พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงใช้เวลาหลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร เพื่อแนะนำสั่งสอนประชาชนในถิ่นนั้น ๆ
     แต่ในพระสูตรนี้ เพราะทรงเห็นว่า ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากมีพื้นเหมาะที่จะปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป จึงรับสั่งว่าจะทรงยืดเวลาการเสด็จจาริกออกไปอีกเดือนหนึ่ง เพื่อเป็นการตัดกังวล ในการเดินทางของท่านเหล่านั้นออกไปจะได้ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติได้เต็มที่ เป็นงานอันศาสดาผู้เอ็นดู ได้ทรงกระทำแก่พระสาวกของพระองค์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดุจห้วงมหรรณพ
     มีข้อที่น่าสังเกตคือ พระพุทธดำรัสที่ว่า “สงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกับอาหุเนยยบุคคล” เป็นต้น ทำไมจึงทรงใช้พระดำรัสเช่นนี้ พระอรรถกถาจารย์ไม่ได้อธิบายไว้ แต่เมื่อพิจารณาดูคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทรงแสดงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสังฆคุณส่วนที่เป็นปรหิตคุณ คือคุณที่เกื้อกูลแก่คนอื่นทั้งนั้น อันเป็นการส่องให้ได้ความเข้าใจ ในพระสังฆคุณส่วนที่เป็นอัตตคุณ ว่า
     “สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน ในความหมายที่เต็มรูปนั้น หมายเอาพระอริยบุคคล 4 จำพวก ตามนัยแห่งบทสวดที่ว่า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐฺ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อันแปลว่า นี่คือใคร ? คือคู่แห่งบุรุษ 4 ได้แก่บุรุษบุคคล 8 นี้ชื่อว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า”
     ฝ่ายท่านที่เป็นกัลยาณปุถุชน ที่ประกอบด้วยสมณสัญญาสำรวมระวังในจตุปาริสุทธิศีล แม้จะไม่ชื่อว่าเข้าถึงสังฆคุณโดยสมบูรณ์ก็ตาม แต่เพราะการปฏิบัติตนเช่นนั้น ท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นเช่นเดียวกับพระอริยบุคคลทั้งหลาย ในข้อที่อาจทำสิ่งที่เป็นปรหิตประโยชน์ แก่คนผู้อื่นถวายทาน ต้อนรับท่าน เป็นต้น ด้วยความเคารพ
     พระสงฆ์ในที่ประชุมนั้น ทรงจำแนกออกเป็นพระอริยบุคคลทุกระดับ จนถึงท่านที่เจริญพรหมวิหาร อันเป็นการแสดงถึงความอยู่ด้วยธรรม แห่งท่านเหล่านั้นตามฐานะของตน ๆ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ
     พระอนาคามี ผู้ละสังโยชน์ได้ 5 ประการ ทรงแสดงว่าจะอุบัติเป็น โอปปาติกะ และไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก แต่จะปรินิพพานในโลกนั้น อันได้นามว่าสุทธาวาส แสดงว่าสุทธาวาสแต่ละชื่อ เป็นโลกแต่ละโลก ส่วนที่ตั้งของโลกเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏที่มา แต่ที่แน่นอนคือไม่ใช่โลกนี้
     พระสกทาคามี ทรงแสดงว่าจะมาสู่โลกนี้ อีกคราวเดียว ทำให้น่าคิดว่าพระอริยบุคคลระดับนี้ต้องเกิดอีกสองชาติ หรือชาติเดียว เพราะตามมรรคที่ท่านบรรลุ ทำให้ท่านบังเกิดในสุคติแน่นอน หลังจากตายไปแล้ว
     คำว่ามาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว หมายเอาการอุบัติในชาติต่อไป หรือการจุติจากเทวโลก แล้วมาบำเพ็ญเพียรบรรลุอรหันต์และนิพพานในโลกนี้ แต่ข้อที่แน่นอนคือ พระพุทธศาสนายอมรับว่า ยังมีโลกที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย ไปอุบัติด้วยอำนาจกรรม ที่แตกต่างกันอีกมาก หามีเฉพาะโลกมนุษย์ เพียงโลกเดียวไม่
     ในพระสูตรนี้ ทรงเน้นหนักไปที่ อานาปานสติกรรมฐาน โดยทรงแสดงอานิสงส์ และขั้นตอนแห่งการปฏิบัติไว้ตามลำดับ ทำให้เห็นเอกภาพแห่งธรรมตามหลักที่ว่า
     “กุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญงอกงามยิ่งขึ้น เหตุนั้น กุศลธรรมจึงควรสร้างให้เกิดขึ้น”
     พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาอรรถกถาปปัญจสูทนี ท่านไม่ได้อธิบายไว้ในอรรถกถา เพราะท่านได้อธิบายไว้แล้ว ในปกรณ์พิเศษวิสุทธิมรรค โดยท่านจำแนกการมนสิการ ในอานาปานสติไว้เป็นลำดับคือ
1.          คณนา การนับ โดยเริ่มจากการนับ 1-1 ถึง10-10 ให้นับเป็นคู่ ๆ จาก 1-1 จนถึง 10-10 โดยไม่นับให้เกิน 10 จะนับช้าหรือเร็วก็ได้
2.          อนุพนฺธนา คือ การกำหนดสติตามลมไป โดยกำหนดเป็นจุดไว้ 3 จุด คือ ปลายจมูกหรือริมฝีปาก ที่หัวใจ และที่ท้อง เรียกว่า ต้นลม กลางลม และปลายลม
3.          ผุสนา คือ จุดที่ลมกระทบ ฐฺปนา คือ การตั้งมั่นแห่งจิต อันเกิดจากการกำหนดรู้จุดที่ลมกระทบ ทั้ง 3 แห่ง ตามที่กล่าวในข้อ 2
4.          สลฺลกฺขณา คือ การกำหนดเรื่องลม ในจุดนั้น  ๆให้ชัดเจน ว่าเป็นอย่างไรได้แก่วิปัสสนา
5.          วิวฏฺฏนา หยุด ปริสุทฺธา หมดหยุด ได้แก่มรรคและผลตามลำดับ
6.          เสสํ ปฏิปสฺสนา ย้อนดูมรรคผล อันเกิดจากวิปัสสนา การเจริญอานาปานสติ จึงเป็นทั้งสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน โดยมีการกำหนด และสำเหนียกไปตามลำดับ ที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตร ในวิสุทธิมรรค ม่านแยกออกเป็น จตุกะ คือจัดเป็นหมวด ๆ ละ 4 ดังนี้
1.          หายใจออกยาว เข้ายาว ออกสั้น เข้าสั้น ก็รู้ว่าเราหายใจเข้า ออก ยาว สั้น สำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจเข้า ออก ยาว สั้น
2.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งปิติ สุข จิตตสังขาร ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
3.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต ทำจิตให้บันเทิง ตั้งจิตมั่น เปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก
4.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง เห็นความคลายไป ความดับ ความสละทิ้ง หายใจเข้า หายใจออก
ข้อแรก เป็นหลักที่ทรงแสดง แก่ผู้เริ่มปฏิบัติส่วนข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 4 เป็นเรื่องของการศึกษา ในเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาตามลำดับ สำหรับท่านที่เจริญอานาปานสติ มาจนได้ความสงบถึงฌาน ผู้ต้องการจะเจริญอานาปานสติ ท่านจึงแนะให้ทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ แล้วทำการศึกษาในเรื่องของกรรมฐานไปตามลำดับ คือ
อุคคหะ การเรียนเอาวิธีการ หลักการ ขั้นตอนแห่งกรรมฐาน
ปริปุจฉา สอบถามในเรื่องกรรมฐาน ที่ตนยังสงสัย หรือยังไม่เข้าใจ
อุปัฏฐาน รู้ความปรากฏแห่งนิมิตของกรรมฐาน อันนิมิตแห่งกรรมฐานนั้น ท่านบอกว่า ลักษณะของนิมิตหาปรากฏ แก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกันทุกคนไม่ เช่นบางคนอาจปรากฏเหมือนปุยนุ่น บางคนปรากฏเหมือนปุยฝ้าย สายลม ดวงดาว เม็ดมณี ไข่มุก เสี้ยนไม้ สายสังวาล พวงดอกไม้ เปลวควัน เป็นต้น แต่ละท่านนิมิตปรากฏไม่เหมือนกัน
อัปปนา ความแน่วแน่แห่งกรรมฐาน
ลักษณะ คือ การกำหนดกรรมฐานไว้ หมายความว่า สามารถจดจำสภาพแห่งกรรมฐานไว้ได้
     ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือการเจริญกรรมฐานนั้น หลักสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ “ดูอะไร ? แต่ขึ้นอยู่กับ “ดูอย่างไร ? มากกว่า เพราะจากการดูลมนี้เองอาจเป็นไปได้ทั้งเป็นการดู กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่ทรงแสดงไว้ และเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า จะดูอย่างไรเท่านั้น
     การก้าวไปแห่งจิต จากกาย เวทนา จิต ธรรม ไปสู่สัมโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ และการก้าวไปในโพชฌงค์แต่ละข้อมีลักษณะเหมือนก้าวไปแห่งกาย ของคนที่เดินไปตามหนทาง หรือขึ้นบันไดแต่ละย่างก้าวที่ก้าวเดินไป มรความสำคัญอยู่ในตัวเอง อันจะขาดเสียไม่ได้ คือก้าวที่ 1 มีความสำคัญในตนเอง และเป็นเหตุให้เกิดเป็นก้าวที่ 2 และจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างนี้ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ที่ต้องการจะไป
     เนื่องจากอานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่พระผู้มีพระภาค ทรงบำเพ็ญก่อนตรัสรู้ อุปกรณ์ที่จะใช้ในการเจริญอยู่ที่ตัวคนทุกคน นิมิตแห่งกรรมฐานดีงาม เหมาะสมแก่คนเกือบทุกจริต
     เหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงแสดงอานิสงส์แห่งอานาปานสติ ไว้โดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อานาปานสติสมาธินี้แล ประณีตแท้ด้วยเป็นธรรมเครื่องพักอยู่ อันละมุนละไมและเป็นสุขด้วย ยังธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้น ๆ ให้หายลับระงับไปโดยพลัน ด้วยอานาปานสติ ภิกษุพึงบำเพ็ญเพื่อตัดเสียซึ่งวิตก”

     “ราหุล ! เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล แม้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อันเป็นจิตดวงสุดท้ายดับก็รู้ หาดับโดยไม่รู้ไม่

จบพระไตรปิฎกฉบับสาระ ในภาคพระสูตรจัดทำโดย ธรรมรักษา ซึ่งผมก็นั่งพิมพ์มาเรื่อย ๆ จนจบ ซึ่งเขาไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ


วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

อานาปานสติสูตร

อานาปานสติสูตร (สูตรว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก)
     พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในบุพพารามเขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้ใหญ่หลายรูป เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระมหาโกฏฐิตเถระ พระมหากัปปินเถระ พระมหาจุนทเถระ พระเรวตเถระ พระอานนท์เถระและพระเถระผู้ใหญ่รูปอื่น ๆ อีกมาก
พระมหาเถระเหล่านั้น ได้ให้โอวาทแก่ภิกษุใหม่ โดยแบ่งกันให้โอวาทรูปละ 10 รูป 20 รูป จนถึงบางท่านรับผิดชอบ ในการโอวาทพระนวกะถึง 40 รูป ช่วยให้พระนวกะเหล่านั้นได้รู้ธรรมพิเศษกว้างขวางยิ่งกว่าก่อนมาก
     ในคืนเพ็ญวันปวารณาออกพรรษา พระผู้มีพระภาคประทับอยู่กลางแจ้ง โดยมีพระสงฆ์เป็นอันมาก นั่งแวดล้อมพระองค์อยู่ ทรงเหลียวดูหมู่สงฆ์ผู้นั่งเงียบอยู่ จึงตรัสว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย !เราปรารพในปฏิปทานี้ เรายินดีในปฏิปทานี้ เพราะเหตุนั้นพวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำคุณที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักอยู่ในเมืองสาวัตถีนี้จนถึงวันเพ็ญเดือน 12
ภิกษุชาวชนบททราบข่าวนั้น จึงได้มาสู่เมืองสาวัตถี เข้ารับการอบรมในสำนักพระเถระทั้งหลาย ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในพระธรรมเพิ่มขึ้น
     ในคืนวันเพ็ญแห่งเดือน 12 พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับกลางแจ้ง ท่ามกลางพระสงฆ์แวดล้อม เช่นวันเพ็ญเดือนก่อนทรงทอดพระเนตรเห็นภิกษุบริษัท อยู่ในอาการอันสงบเงียบเรียบร้อย จึงรับสั่งความว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทนี้ไม่คุยกัน เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ สงฆ์บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ต้อนรับ ให้ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นที่ยิ่งไปกว่า
     ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกับบริษัท ที่เขาถวายของน้อยมีผลมาก ถวายของมากมีผลมากยิ่งขึ้น สงฆ์เช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับบริษัท ที่ชนจะเอาเสบียงคล้องแขนเดินทางไปชม แม้ไกลนับเป็นโยชน์
     จากนั้น ทรงจำแนกภิกษุ ที่นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ให้เห็นว่าเป็นผู้มากด้วยคุณสมบัติ ในระดับต่าง ๆ โดยทรงเรียงจากท่านที่เป็นพระอรหันต์ลงไป โดยเริ่มต้นแต่ละข้อว่า ภิกษุในสงฆ์นี้ เป็น
     - พระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ
     - เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง 5 จะได้นิพพานในโลกนั้น ๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา
     - เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
     - เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 อย่างไม่ต้องตกอบายเป็นธรรมดาแน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
     - เป็นผู้ประกอบความเพียร ในการเจริญสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8
     - เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ในการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา อานาปานสติ
     จากนั้น ทรงแสดงอานิสงส์การเจริญขั้นตอน แห่งอานาปานสติโดยพิสดารความว่า
     “อานาปานสติ อันภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่ ผู้เจริญอานาปานสติแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ ผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ทำให้มากแล้วย่อมทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ 7 ประการ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุติบริบูรณ์ได้
     ขั้นตอนแห่งการเจริญอานาปานสติ ที่ทรงแสดงว่าเมื่อเจริญทำให้มากแล้วย่อมเกิดผลมาก คือ
-     การเข้าไปสู่ที่อันสงัดเงียบ จากเสียงรบกวน เช่น ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ฯ
-     นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า มีสติ หายใจออก มีสติหายใจเข้า
-     เมื่อหายใจเข้า ออก ยาว สั้น ให้รู้ชัดว่า ขณะนี้เราหายใจเข้า ออก ยาว สั้น
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ ปีติ สุข จิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิต ทำจิตให้ร่าเริง ตั้งจิตมั่นจักเปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความสละคืนกิเลส หายใจเข้า หายใจออก
ขั้นที่ 2 ทรงแสดงถึงกรรมวิธี ที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสติปัฏฐาน โดยดำเนินไปตามวิถีทางอานาปานสติตามลำดับ ความว่า
-     เมื่อภิกษุรู้ชัดลมหายใจเข้า ออก ของตนว่ายาว สั้น สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจเข้าออก ระงับกายสังขาร หายใจเข้า ออกแล้ว ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวว่า ลมหายใจเข้าออกเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปิติ สุข จิตตสังขาร ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออกอยู่ ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสียได้ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้าออก เป็นอย่างดีนี้ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในเวทนาทั้งหลาย
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิต ทำจิตให้ร่าเริง ตั้งจิตมั่นเปลื้องจิต หายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ผู้เผลอตัว ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง คลายความกำหนัด ความดับกิเลส ความสละคืนกิเลส หายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสียได้ เธอรู้เห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว เป็นผู้วางเฉยได้ดี
     ในตอนสุดท้ายทั้ง 4 ข้อ จะทรงสรุปด้วยคำว่า เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมในกาย เวทนา จิต ธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้อยู่
     ขั้นที่ 3 ทรงแสดงการก้าวไปแห่งจิต จากการเจริญสติปัฏฐาน ไปสู่โพชฌงค์ 7 ประการ ความว่า
     เมื่อภิกษุเรียนรู้ในสติปัฏฐาน จนขจัดกิเลสดังกล่าวได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เผลอชื่อว่าเป็นการเจริญสติสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ จนสติสัมโพชฌงค์เข้าถึงความเจริญสมบูรณ์ เมื่อมีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
     การกระทำเช่นนั้น ชื่อว่าเป็นการเริ่ม ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญต่อไป ปีติอันปราศจากอามิส ย่อมเกิดแก่ภิกษุ ผู้ปรารภความเพียรแล้ว
     การเกิดขึ้นแห่งปีติอันปราศจากอามิส ได้ชื่อว่าเกิดปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ไปจนบริบูรณ์ ความสงบระงับแห่งกายจิตย่อมเกิดขึ้น
     ความสงบระงับแห่งกายจิต เป็นอาการของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญปัสสัทธิโพชฌงค์จนบริบูรณ์แล้ว จะเกิดความสุข และจิตใจตั้งมั่น
     อาการสงบระงับแห่งกายใจ จนเกิดสุข มีจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์เมื่อเจริญไปจนบริบูรณ์ ย่อมเป็นผู้วางเฉยต่อจิตที่ตั้งแล้วเป็นอย่างดี
     อาการวางเฉยแห่งจิต เมื่อเข้าถึงความเจริญ บริบูรณ์แล้ว ย่อมได้อุเบกขาสัมโพชฌงค์
     ต่อแต่นั้น ทรงแสดงการเดินทางแห่งจิต ไปตามโพชฌงค์ 7 ประการ ของผู้ที่พิจรณาเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ในการ เวทนา จิต ธรรม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น แก่ผู้เจริญกายานุปัสสนา
     รับสั่งว่า ผู้เจริญโพชฌงค์ 7 อย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไร จะบำเพ็ญวิชชาและวิมุติ ให้บริบูรณ์ได้
     ทรงเฉลยว่า ผู้เจริญโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการนั้น โดยอาศัยวิเวก วิราคะ นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ทำให้มากอย่างนี้แล้ว ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ได้

(ติดตามตอนจบครั้งหน้าครับ)



วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

ศีลเป็นพื้นฐานของวิปัสสนา

     พระอานนท์พักอยู่ ณ กุกกุฏาราม ใกล้เมืองปาฏลีบุตร ครั้งนั้น พระภัททะพักอยู่ในที่ใกล้กัน เวลาเย็นวันหนึ่งพระภัททะได้เข้าไปหาพระอานนท์ เมื่อทักทายปราศรัยกันตามสมควรแล้ว พระภัททะได้ถามพระอานนท์ว่า
     “ท่านอานนท์ ! ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ทรงมีพระประสงค์อย่างไร ?
     “ดีละ ๆ ท่านภัททะ ท่านนี่ช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไตร่ถามเหมาะ ๆ
     ท่านภัทะ ! ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วเพียงเพื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็สติปัฏฐาน 4 เป็นไฉน ?
     ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
     ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่...
     ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
     ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
     ท่านภัททะ ! ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วเพียงเพื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 เหล่านี้”

ขยายความ ในฐิติสูตร ที่ต่อจากพระสูตรนี้ พระภัททะก็ได้ถามพระอานนท์ว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน หรือไม่นานในเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ?
     พระอานนท์ก็ได้ตอบว่า เพราะมีผู้เจริญหรือไม่เจริญสติปัฏฐาน 4 เหมือนดังพระพุทธองค์ได้รับสั่งไว้ และพระอานนท์ได้จำถ่ายทอดมา
     นี่ก็หมายความว่า สติปัฏฐาน 4 นี่เอง เป็นแก่นของศาสนา ถ้าพุทธบริษัททั้ง 4 เหล่า ไม่ปฏิบัติวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน 4 แล้ว พระพุทธศาสนาก็จะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทุกฝ่าย ควรเอาใจใส่สนใจศึกษาและปฏิบัติ โดยทั่วถึงกัน มิใช่จะโยนกลองมาให้ภิกษุแต่เพียงฝ่ายเดียว
     แต่ในพระสูตรนี้ ได้ระบุรากฐานหรือความงอกงามของศีลเพียงเพื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น
     นั่นก็หมายความว่า ถ้าศีลที่ไม่เป็นกุศล คือศีลที่ขาดบ้าง ทะลุบ้าง ด่างบ้าง พร้อยบ้าง ก็จะเจริญสติปัฏฐาน 4 ไม่ได้ผล
     ในเมืองไทย มีสำนักปฏิบัติวิปัสสนาอยู่มากมาย และหลายแห่งก็เคร่งครัดในด้านวิปัสสนาดี แต่ก็ไปหย่อนในทางศีล เป็นที่น่าเสียดายมาก
     ในบางสำนักถึงกับกล่าวว่า ศีลไม่สำคัญอะไร ไม่ต้องรักษาก็ได้ เพราะขณะปฏิบัติวิปัสสนาอยู่นั้น ศีลมีครบบริบูรณ์ในตัวแล้ว เป็นเรื่องที่ตีความเอาเอง เพราะโดยความจริง ไม่มีใครปฏิบัติวิปัสสนาได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแม้ขณะที่ยังตื่นอยู่ เห็นอยู่ ก็ไม่อาจจะทำได้ทุกขณะจิต

     ขอกราบเท้าวิงวอน ท่านเจ้าสำนักทั้งหลาย จงลดอัตทิฐิมานะ ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ให้ถ่องแท้แล้วนำเอาไปประยุกต์ปฏิบัติเถิด นอกจากสำนักของท่านจะเจริญก้าวหน้าแล้ว พระศาสนาก็จะตั้งมั่นอยู่ได้นานอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560

อาหารของนิวรณ์ 5

     ภิกษุทั้งหลาย ! กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด
     นิวรณ์ 5 ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้พยาบาทที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำได้มาก ซึ่ง อโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาท ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่ มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะ ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
      ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่สงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ ในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
      ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้ง แห่งวิจิกิจฉา มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิจิกิจฉา ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

ขยายความ นิวรณ์ 5 คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา
     กามฉันท์ คือ ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่ชอบใจ รูป เสียง ฯ เป็นต้น
     พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความปองร้าย
     ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม ความง่วงเหงาซึมเซา
     อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านและรำคาญ ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนใจ
     วิจิกิจฉา คือ ความลังเลไม่ตกลงได้ ความไม่แน่ใจ ความสงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน
     ศุภนิมิต คือความเห็นว่าเป็นของสวยงาม เป็นเหตุให้เกิดความกำหนัด
     อโยนิโสมนสิการ คือ กระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย
     ปฏิฆะ คือ ความขัดใจ แค้นเคือง ความขึ้งเคียด ความกระทบกระทั่งแห่งจิต
     นิวรณ์ 5  เป็นอุปสรรคของความก้าวหน้า ทั้งในทางโลกและทางธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ถ้ากำจัดนิวรณ์ไม่ได้ จะปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย

      

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

ผลของการเจริญกายคตาสติ 10

1.          อดกลั้นต่อความยินดีและไม่ยินดีได้ ความยินดีหรือไม่ยินดีไม่อาจครอบงำได้
2.          อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ อยู่เหนือภัยและความหวาดกลัว
3.          อดกลั้นอดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ต่อเหลือบ ยุง ลม แดด อดทนต่อการใส่ร้าย อดทนต่อทุกขเวทนา ฯ ได้
4.          จะได้ฌาน 4 อันเป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบันไม่ยาก ไม่ลำบาก
5.          ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ
6.          ย่อมฟังเสียงมนุษย์และเสียงทิพย์ได้ทั้งใกล้และไกล
7.          ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น คนอื่นได้ด้วยใจ
8.          ย่อมระลึกชาติในอดีตได้มาก
9.          ย่อมเห็นสัตว์ตายและเกิด พร้อมทั้งอดีตกรรม
10.     ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ สิ้นกิเลสในปัจจุบัน


 (เพิ่มเติมข้อ 3 ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพสิรินทร์อดทนต่อยุงกัดได้ลองไปค้นประวัติท่านดู และข้ออื่นท่านก็ได้ด้วย เช่น ข้อ 7 และระดับพระสังฆราชของไทยจะฟังเสียงนกเสียงกาได้)

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

กายคตาสติเป็นหลักใจ

     ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนคนจับเอาสัตว์ 6 ชนิด ซึ่งมีวิสัย (พื้นเพ) ต่างกัน มีโคจร (ที่ไป) ต่างกันคือ จับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วจึงขมวดปมไว้ตรงกลางแล้วปล่อยไป
     ที่นั้นแล สัตว์ทั้ง 6 ชนิดซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน เหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตน ๆ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะไปสู่ป่าช้า
     ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใดแลสัตว์ทั้ง 6 ชนิดนั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้นสัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไป สู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ได้อบรมไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งกายคตาสติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตาย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันเป็นที่ไม่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล หูย่อมฉุด...จมูกย่อมฉุด...ลิ้นย่อมฉุด...กายย่อมฉุด...ใจย่อมฉุดไปในอารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่สังวรระวัง ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล
     ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนคนจับสัตว์ 6 ชนิด...ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง... สัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงไปลำบาก เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้น พึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบ อยู่ที่หลักหรือเสานั่นเองแม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตาย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น ไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล เสียงย่อมไม่ฉุด...กลิ่นย่อมไม่ฉุด...รสย่อมไม่ฉุด...กายย่อมไม่ฉุด...ใจย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์ อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความสังวรระวังย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล
     ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่าหลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจะอบรมกระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

ขยายความ พระสูตรนี้ ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติของภิกษุ ที่ไม่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ย่อมจะถูกอารมณ์ภายนอกดึงไปใน 6 ทางนี้ อารมณ์ใดแรง กล่าวคือเกิดความชอบหรือชังมาก ก็จะถูกเหนี่ยวรั้งไปทางนั้น
     แต่ถ้าผู้ใดมีหลักคือ เจริญและทำให้มากใน “กายคตาสติ” คือสติที่พิจารณาในกาย ให้เห็นว่าเป็นของไม่งาม ไม่สะอาด น่ารังเกียจ การที่จะถูกอารมณ์ทั้ง 6 ดึงไป ด้วยความหลงใหลมัวเมาก็ไม่อาจเป็นไปได้

     การปักหลัก “กายคตาสติ” ให้มั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ต้องหมั่นพิจารณาอยู่บ่อย ๆ มิใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วจึงทำ ย่อมจะไม่ทันกาล

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

สาวสวยกับคมดาบ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ. นิคมของชาวสุมภะ ชื่อ เสทกะในสุมภชนบทได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องนางงามในชนบท กับคนที่ผ่านเข้าไปในหมู่นางงามนั้น ด้วยทูลหม้อน้ำมันเต็มเปี่ยม แล้วมีคนถือดาบเดินตามไปข้างหลัง ถ้าหม้อน้ำมันหก ให้ตัดคอทันทีว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนหมู่มหาชน ได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบทนั้นน่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าฟังอย่างยิ่งในการขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบท จะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ
     ครั้งนั้น คนผู้อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ ได้มากล่าวกะที่ประชุมนั้นว่า
     ท่านผู้เจริญ ! ท่านจงนำหม้อใส่น้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ เดินไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่ ของนางงามในชนบทนั้น แต่มีคนเงื้อดาบอันคมเดินตามหลังคนที่ทูนหม้อน้ำมันนั้นไปด้วย ถ้าคนนั้นทำน้ำมันหกเพียงหยดหนึ่งในที่ใด ศีรษะของเขาจะขาดตกลงในที่นั้นทันที
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร คนผู้นั้นจะไม่ใส่ใจในหม้อน้ำมันนั้น แล้วพึงประมาทในภายนอก (หม้อน้ำมัน) เที่ยวหรือ ?
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
“ไม่เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัดเจนขึ้น เนื้อความในข้อนี้มีอย่างนี้แล คำว่า ภาชนะหม้อน้ำมันอันเต็มเปี่ยม เป็นชื่อของ “กายคตาสติ
     ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า กายคตาสติ จะเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

ขยายความ พระสูตรนี้ เป็นข้อเปรียบเทียบ สำหรับภิกษุที่เจริญกายคตาสติด้วยความไม่ประมาท อยู่ทุกย่างก้าวและทุกขณะจิต
     เหมือนคนหนุ่มเดินเข้าไปในหมู่หญิงงามแล้วทูนหม้อน้ำมันเต็มเปี่ยม มีคนกำลังถือดาบคมเงื้อเดินตามไปข้างหลังด้วย ถ้าหม้อน้ำมันกระเซ็นหก แม้เพียงหยดเดียว หัวของคนที่ทูนหม้อน้ำมันนั้นจะขาดลงทันที
     ระหว่างความตายกับการแลมองนางสาวงาม อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน ?
     กายคตาสติ คือความมีสติระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นเป็นของไม่งาม สกปรก เน่า เหม็น น่าเบื่อระอา น่าสลัดทิ้งฯ
     ในการปฏิบัติธรรมทุกประเภท ถ้ามีความไม่ประมาทถึงขนาดที่ทรงอุปมาไว้นื้ การปฏิบัตินั้น ๆ จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน


อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...